ถั่วดาวอินคา สรรพคุณไม่ธรรมดา เป็นพืชที่ควรค่าต่อสุขภาพ
ถั่วดาวอินคา อาหารเพื่อสุขภาพที่กำลังฮิตอยู่ตอนนี้ สรรพคุณถั่วดาวอินคาดียังไง ใครยังไม่เคยลอง ไม่รู้จัก ระวังจะคุยกับคนอื่นไม่รู้เรื่อง !
*ถั่วดาวอินคา มาจากไหน
ถั่วดาวอินคาเป็นพืชพื้นเมืองในแถบอเมริกาใต้ มีถิ่นกำเนิดอยู่ในป่าอเมซอน แถบประเทศเปรู แต่ในปัจจุบันก็มีการเพาะปลูกถั่วดาวอินคาในแถบทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในประเทศไทย และมีการนำถั่วดาวอินคามาแปรรูป เช่น น้ำมันถั่วดาวอินคาที่ได้จากการสกัด ถั่วดาวอินคาอบเกลือ หรือถั่วดาวอินคาคั่ว ให้เหล่าคนรักสุขภาพได้เลือกซื้อเลือกทานกันบ้างแล้ว
*ถั่วดาวอินคา มารู้จักกันอีกนิด
ถั่วดาวอินคา มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Plukenetia volubilis L. และแม้เราจะเรียกว่าถั่วดาวอินคา ทว่าดาวอินคาเป็นพืชในวงศ์ Euphorbiaceae เช่นเดียวกับยางพารา สบู่ดำ หรือมันสำปะหลัง ดังนั้นดาวอินคาจึงไม่ใช่พืชตระกูลถั่ว แต่ดาวอินคาเป็นพืชที่ผลมีรูปร่างคล้ายดาว ภายในผลดาวอินคามีเมล็ดคล้ายถั่ว บ้านเราจึงเรียกพืชชนิดนี้ว่าถั่วดาวอินคานั่นเองค่ะ
ส่วนในต่างประเทศมีชื่อเรียกดาวอินคาที่หลากหลายพอสมควรค่ะ โดยถั่วดาวอินคามีชื่อภาษาอังกฤษว่า Sacha inchi, Sacha peanut หรือบ้างก็เรียกว่า Mountain peanut เป็นต้น
*ถั่วดาวอินคา ลักษณะทางพฤกษศาสตร์เป็นแบบไหน
ดาวอินคาเป็นไม้เลื้อยที่มีลำต้นสูงกว่า 2 เมตร กิ่งและยอดแผ่เลื้อยพันไปตามกิ่งไม้หรือโครงสร้างเลื้อยพันอื่น ๆ และดาวอินคายังจัดเป็นพืชที่มีอายุยืน โดยเฉลี่ยต้นดาวอินคาจะมีอายุได้นาน 10-50 ปีเลยทีเดียว
ใบดาวอินคาเป็นใบเดี่ยว ยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร และมีความกว้างประมาณ 8-10 เซนติเมตร ส่วนของก้านของใบจะยาวประมาณ 2-7 เซนติเมตร ปลายใบมีรูปทรงเรียวแหลม เรียงสลับกันเป็นรูปหัวใจ ส่วนขอบใบหยักเป็นรูปร่างคล้าย ๆ เลื่อย
ดอกดาวอินคาเป็นดอกช่อ ลักษณะเดียวกับช่อกระจะ ดอกดาวอินคามีการแยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน ดอกเพศผู้จะมีขนาดเล็ก สีออกขาว เรียงเป็นกระจุกตลอดความยาวของช่อ ส่วนดอกเพศเมียจะมีประมาณ 2 ดอกอยู่ที่โคนช่อดอก
ผลดาวอินคามีรูปร่างคล้ายดาว ลักษณะผลเป็นแบบแคปซูล เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3-5 เซนติเมตร ผลมี 4-7 แฉก เมื่อยังโตไม่เต็มที่ ผลอ่อนดาวอินคาจะมีสีเขียว และสีจะค่อย ๆ เข้มขึ้นตามอายุ เมื่อผลแก่จะมีกลายเป็นสีน้ำตาลออกดำ มีเนื้อนุ่ม ๆ สีดำหุ้มอยู่อีกชั้น ซึ่งส่วนนี้กินไม่ได้นะคะ ซึ่งโดยปกติจะทิ้งให้ผลดาวอินคาแห้งคาต้นก่อนเก็บเกี่ยว และเมื่อเก็บเกี่ยวแล้วจะต้องนำมาตากแดดอีก 1 วัน จึงจะนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้
เมล็ดดาวอินคามีรูปร่างคล้ายถั่ว เมล็ดเป็นรูปไข่ มีสีน้ำตาลดำ ขนาดกว้าง 1.7-1.8 เซนติเมตร น้ำหนักเมล็ดราว ๆ 1.3-1.7 กรัม ทั้งนี้เมล็ดดาวอินคาที่ยังดิบอยู่ไม่ควรนำมาบริโภค เพราะมีสารกลุ่มที่ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ทริปซิน (trypsin inhibitor) แต่หากนำไปคั่วหรือทำให้สุกแล้วสามารถกินเมล็ดดาวอินคาได้
*ถั่วดาวอินคา คุณค่าทางโภชนาการมีอะไรบ้าง
ฐานข้อมูลสินค้าประเภทอาหาร กระทรวงเกษตรแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ USDA Branded Food Products Database เผยคุณค่าทางโภชนาการของถั่วดาวอินคาคั่วเกลือ ปริมาณ 100 กรัม ดังนี้
- พลังงาน 607 กิโลแคลอรี
- โปรตีน 32.14 กรัม
- ไขมันทั้งหมด 46.43 กรัม
- คาร์โบไฮเดรต 17.86 กรัม
- น้ำตาล 3.57 กรัม
- แคลเซียม 143 มิลลิกรัม
- ธาตุเหล็ก 4.59 มิลลิกรัม
นอกจากนี้ ทางสำนักข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ยังได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เมล็ดถั่วดาวอินคาเป็นแหล่งของโปรตีนและกรดไขมัน (สัดส่วนโปรตีน 27% สัดส่วนกรดไขมัน 35-60%) โดยในเมล็ดถั่วดาวอินคาจะอุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า 3 เช่น กรดไขมันลิโนลินิก (linolenic acid ) ประมาณ 45-53% (12.8–16.0 กรัม/เมล็ดถั่วดาวอินคา 100 กรัม) และยังมีกรดไขมันโอเมก้า 6 ประมาณ 34-39% หรือ 12.4-14.1 กรัม ต่อเมล็ดถั่วดาวอินคา 100 กรัม
ซึ่งยังไม่หมดเพียงเท่านั้นค่ะ โดยเมล็ดถั่วดาวอินคายังมีกรดไขมันโอเมก้า 9 ประมาณ 6-10% ของไขมันทั้งหมด รวมทั้งถั่วดาวอินคายังมีสารไฟโตสเตอรอล หรือสารประกอบอินทรีย์ประเภทสเตียรอยด์ที่พบเฉพาะในพืช อีกทั้งยังมีสารต้านอนุมูลอิสระในกลุ่มฟีโนลิกและแคโรทีนอยด์ด้วยนะคะ
*ถั่วดาวอินคา สรรพคุณล้ำค่าจัดว่าเป็นซูเปอร์ฟู้ด
ได้ทราบข้อมูลทางโภชนาการของถั่วดาวอินคากันไปแล้ว คราวนี้ลองมาดูสรรพคุณของถั่วดาวอินคากันบ้างค่ะว่า ถั่วดาวอินคาจะดีต่อสุขภาพของเราขนาดไหน
1. ช่วยลดคอเลสเตอรอลในเลือด
กรดไขมันโอเมก้า 3 และสารไฟโตสเตอรอล มีฤทธิ์ช่วยลดคอเลสเตอรอลในเลือด โดยสามารถยับยั้งการดูดซึมคอเลสเตอรอลในระบบทางเดิอนอาหารได้ นอกจากนี้สารต้านอนุมูลอิสระในกลุ่มฟีโนลิกและแคโรทีนอยด์ ยังมีคุณสมบัติป้องกันการออกซิเดชั่นของไขมัน ดังนั้นถั่วดาวอินคาและน้ำมันสกัดจากถั่วดาวอินคา น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการลดไขมันในเลือด
2. ลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด
ด้วยสรรพคุณของกรดไขมันโอเมก้า 3 สารไฟโตสเตอรอล และสารต้านอนุมูลอิสระที่มีอยู่ในถั่วดาวอินคา ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยลดการดูดซึมคอเลสเตอรอลไม่ดีเข้าสู่เส้นเลือด ทั้งยังป้องกันการเกิดออกซิเดชั่นของไขมัน จึงทำให้ถั่วดาวอินคามีสรรพคุณช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดได้
โดยจากการศึกษาทางคลินิกในอาสาสมัคร 30 คน โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 รับประทานน้ำมันสกัดจากเมล็ดถั่วดาวอินคา อีกกลุ่มได้รับประทานน้ำมันสกัดจากเมล็ดดอกทานตะวัน โดยทั้งสองกลุ่มจะได้กินน้ำมันประมาณ 10-15 มิลลิลิตรต่อวัน ติดต่อกันเป็นเวลา 4 เดือน ซึ่งจากการทดลองพบว่า อาสาสมัครทั้งสองกลุ่มมีระดับคอเลสเตอรอลรวมและคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) ลดลงพอ ๆ กัน ทว่ากลุ่มที่กินน้ำมันสกัดจากเมล็ดถั่วดาวอินคามีระดับคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) ในเลือดเพิ่มมากขึ้นกว่ากลุ่มที่รับประทานน้ำมันสกัดจากเมล็ดทานตะวันอย่างมีนัยสำคัญ
ทั้งนี้จากการศึกษาก็ไม่พบการเปลี่ยนแปลงค่าทงชีวเคมีในเลือดที่ใช้ตรวจสอบความผิดปกติของตับและไต แต่พบผลข้างเคียง เช่น อาการคลื่นไส้ อาเจียนมากที่สุดในกลุ่มผู้ที่กินน้ำมันสกัดจากเมล็ดถั่วดาวอินคา
3. ถั่วดาวอินคา ช่วยลดน้ำหนัก
กรดไขมันโอเมก้า 3 ในเมล็ดถั่วดาวอินคา มีคุณสมบัติด้านการสร้างสมดุลฮอร์โมนของร่างกาย ช่วยลดการหลั่งสารคอร์ติซอลหรือสารแห่งความเครียดที่ส่งผลให้เราหิวบ่อย อยากกินอาหารรสหวานและอาหารจังก์ฟู้ดบ่อย ๆ หรือสรุปง่าย ๆ คือสามารถช่วยลดความอยากอาหารลงได้ ทำให้เราควบคุมน้ำหนักได้ดีขึ้นนั่นเองค่ะ
4. บำรุงกระดูก
กรดไขมันโอเมก้า 3 ในถั่วดาวอินคายังมีสรรพคุณช่วยให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมมาบำรุงกระดูกได้ดีขึ้น อีกทั้งยังช่วยรักษาความแข็งแรงของเยื่อหุ้มเซลล์ ลดการอักเสบของหลอดเลือด และลดความเสี่ยงโรคไขข้อได้อีกด้วย
5. บำรุงผิวและผม
นอกจากกรดไขมันชนิดดีแล้ว ในถั่วดาวอินคายังอุดมไปด้วยวิตามินอี และวิตามินเอที่ช่วยบำรุงสุขภาพผิวและผม ช่วยป้องกันสารต้านอนุมูลอิสระอันเป็นต้นเหตุของการอักเสบ ช่วยลดริ้วรอย และช่วยบำรุงผิวให้ชุ่มชื้น ดังนั้นก็ไม่ต้องแปลกใจหากจะเห็นผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมจากสารสกัดของถั่วดาวดินคาวางจำหน่ายในบ้านเรา
6. โปรตีนสูง
เมล็ดถั่วดาวอินคาเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญ โดยเมล็ดถั่วดาวอินคาปรุงสุก 100 กรัมมีสัดส่วนของโปรตีนมากถึง 27% ดังนั้นคนที่กินมังสวิรัติ หรือในคนที่ต้องการโปรตีนเข้าไปเสริมสร้างกล้ามเนื้อในร่างกาย ถั่วดาวอินคาก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามนะคะ
ถั่วดาวอินคากลายเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพอีกชนิดที่เราสามารถหาซื้อได้อย่างไม่ยากเย็นเท่าไรนัก เพราะมีกลุ่มชุมชนที่ปลูกถั่วดาวอินคา อย่างเช่น จังหวัดทางภาคเหนือ ที่นำถั่วดาวอินคามาแปรรูปเป็นขนมขบเคี้ยว น้ำมันสกัด และเครื่องสำอาง เป็นต้น หากใครสนใจอยากรับประโยชน์ของถั่วดาวอินคา ก็ลองไปหาซื้อกันได้เลยค่ะ
ขอบคุณแหล่งที่มา https://health.kapook.com
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น